Last updated: 8 ก.ค. 2564 | 29625 จำนวนผู้เข้าชม |
หลักการและองค์ประกอบ ในการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ผู้เขียน/เรียบเรียง
วรพงศ์ ผูกภู่
ผู้วิจัย
วรพงศ์ ผูกภู่, ฐิติ ฐิติจำเริญพร,
วุฒิพงษ์ ฉั่วตระกูล, อิสรี แพทย์เจริญ,
พินทุสร อ่อนเปี่ยม, จิตรลดา ปิ่นทอง
6 กรกฎาคม 2564
หลักการของการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
สิ่งที่ควรคำนึงถึงในลำดับแรก สำหรับการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม คือ การสร้างความตระหนัก และจิตสำนึก อย่างมีส่วนร่วม ให้กับคนในชุมชนท้องถิ่น เห็นคุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในท้องถิ่น เพราะเป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนา ต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการ บูรณาการองค์ความรู้จากสหวิทยาการ และความรู้สมัยใหม่ เข้ากับความรู้และภูมิปัญญาของท้องถิ่น ดังนั้น การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จึงไม่สามารถพัฒนาขึ้นได้โดยปัจจัยภายในหรือศักยภาพที่มีอยู่เดิมในชุมชนท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว จำเป็นที่จะต้องเข้าใจสถานการณ์ภายนอก ที่เป็นทั้งโอกาส ผลกระทบ และภาวะคุกคาม ในการพัฒนาที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ
การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ถือเป็นแนวทางหรือทางเลือกหนึ่งของการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ต่อยอด และเผยแพร่ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในท้องถิ่น ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ นำไปสู่การสร้างมูลค่าและโอกาสทางเศรษฐกิจ รวมถึงกระบวนการทางสังคมและการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมร่วมกัน โดยมีหลักการที่สำคัญ 7 ประการ ดังนี้
1. เคารพในสิทธิและความหลากหลายทางวัฒนธรรม
2. การจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในท้องถิ่น
3. การสร้างสรรค์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
4. การมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
5. ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และความตระหนัก
6. คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
7. ยกระดับคุณภาพชีวิตของตคนในชุมชนท้องถิ่น
ภาพที่ 1 หลักการของการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ที่มา : วรพงศ์ ผูกภู่ และคณะ (2564, น.153)
องค์ประกอบของการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
จากการศึกษาข้อมูลด้านศักยภาพของการท่องเที่ยวโดยชุมชน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กระบวนการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และ การบริหารจัดการการท่องเที่ยว จากชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สามารถสรุปองค์ประกอบของการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ออกเป็น 5 องค์ประกอบดังนี้
1. ด้านการจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในท้องถิ่น
2. ด้านการบริหารจัดการที่ยั่งยืน
3. ด้านการมีส่วนร่วม
4. ด้านการจัดกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้
5. ด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู เผยแพร่ และการสร้างคุณค่า
1. ด้านการจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในท้องถิ่น
การจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในท้องถิ่น หมายถึง กระบวนการในการสร้างความตระหนัก เห็นคุณค่า ความรัก ความหวงแหน และภาคภูมิใจของคนในชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในท้องถิ่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการ การศึกษา รวบรวมข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชน เช่น ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น งานประเพณี พิธีกรรม สถาปัตยกรรม เป็นต้น แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่
2. ด้านการบริหารจัดการที่ยั่งยืน
การบริหารจัดการที่ยั่งยืน หมายถึง การบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่มีการออกแบบ การวางแผน การกำหนดมาตรการ และข้อตกลง ต่าง ๆ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบทางลบที่จะส่งผลเสียต่อ วัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังรวมถึงการบริหารจัดการองค์กรชุมชนเพื่อการบริหารจัดการการท่องเที่ยว ที่สอดคล้องกับบริบททางด้านพื้นที่ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของชุมชนท้องถิ่น นั้น ๆ
3. ด้านการมีส่วนร่วม
การมีส่วนร่วม หมายถึง การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีระดับของการมีส่วนร่วมที่หลากหลาย เช่น ร่วมวางแผน ร่วมบริหารจัดการ ร่วมรับผลประโยชน์ และร่วมรับผิดชอบ ทั้งนี้จะต้องสอดคล้องกับรูปแบบการบริหารจัดการตามบริบท ด้านพื้นที่ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของชุมชนท้องถิ่น นั้น ๆ
4. ด้านการจัดกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้
การจัดกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ หมายถึง การนำเสนอเรื่องราวของ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในท้องถิ่น ผ่านการจัดกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ ที่มุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและกระบวนการ เกิดความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก และเห็นคุณค่า จากการมีส่วนร่วมในสถานการณ์จริง การปฏิบัติจริง และการถ่ายทอดโดยคนในท้องถิ่น
5. ด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู เผยแพร่ และการสร้างคุณค่า
การอนุรักษ์ ฟื้นฟู เผยแพร่ และการสร้างคุณค่า หมายถึง กระบวนการของการท่องเที่ยว มีส่วนสำคัญให้เกิดกระบวนการในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู เผยแพร่ และการสร้างคุณค่า ให้กับ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในท้องถิ่น ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและมิติทางสังคม
ภาพที่ 2 องค์ประกอบของการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ที่มา : วรพงศ์ ผูกภู่ และคณะ (2564, น.266)
เอกสารอ้างอิง
วรพงศ์ ผูกภู่, ฐิติ ฐิติจำเริญพร,วุฒิพงษ์ ฉั่วตระกูล, อิสรี แพทย์เจริญ, พินทุสร อ่อนเปี่ยม และ จิตรลดา ปิ่นทอง. (2564). รูปแบบการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กรณีศึกษาพื้นที่ต้นแบบชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม