หนึ่งทศวรรษพัฒนาการของมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนประเทศไทย

Last updated: 28 ต.ค. 2562  |  14287 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หนึ่งทศวรรษพัฒนาการของมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนประเทศไทย

หนึ่งทศวรรษพัฒนาการของมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนประเทศไทย พ.ศ.2552 - 2562

เรียบเรียงโดย วรพงศ์ ผูกภู่  (บริษัท อาร์แอนด์ดี ครีเอชั่น จำกัด)

กำเนิดการท่องเที่ยวโดยชุมชน

       พัฒนาการของมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนในประเทศไทย มีที่มาจากการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานการท่องเที่ยวสากล เนื่องจากสถานการ์ด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่งผลต่อคุณภาพของสินค้าทางการท่องเที่ยวที่มีการแข่งขันกันด้านราคา และขาดการรับผิดชอบต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม-วัฒนธรรม ตลอดจนเศรษฐกิจของท้องถิ่น ผู้ที่มีบทบาทในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีความพยายามที่จะใช้มาตรฐานเพื่อยกระดับคุณภาพของการท่องเที่ยว จนกระทั่งในปี พ.ศ.2535 มีการจัดตั้งสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (sustainable Tourism Stewardship Council – STSC) ภายใต้การสนับสนุนขององค์การการท่องเที่ยวโลก องค์การสหประชาชาติ (UNWTO) โดยได้มีการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานการท่องที่ยวสากล (Global Sustainable Tourism Criteria – GSTC) ขึ้น และได้ลักดันให้ประเทศสมาชิกนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐาน ซึ่งประเทศไทยโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้นำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติผ่านแนวคิด 7 Greens และพิจารณารางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยครั้งที่ 8 และครั้งที่ 9 (พจนา สวนศรี และคณะ, 2556)

ก้าวแรกของมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนในประเทศไทย


       การพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยการริเริ่มของโครงการจักการทรัพยากรชายฝั่ง (Coastal Habitats and Resources Management Project – CHARM) ร่วมมือกับโครงการท่องเที่ยวเพื่อชีวิตและธรรมชาติ (Responsible Ecological Social Tour Project – REST) ภายใต้ชื่อ CHARM-REST ที่พัฒนาเครื่องมือการประเมินผลชุมชน ด้วยชุมชนเอง โดยมีกรอบการประเมินจากเป้าหมายที่ชุมชนได้ตั้งไว้ในการพัฒนาการท่องเที่ยว ได้แก่ การพัฒนาคน การส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากร การสร้างรายได้เสริม และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักท่องเที่ยวกับชาวบ้าน และได้มีความพยายามผลักดันไปสู่การรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 แนวคิดเรื่องมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้รับการพัฒนาต่อภายใต้ความร่วมมือของสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) มูลนิธิใบไม้เขียว สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT-I) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ European Center for Eco and Agro Tourism (ECEAT) เพื่อสร้างการยอมรับเรื่องคุณภาพของผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานทางการท่องเที่ยว ผ่านการพัฒนามาตรฐานอย่างมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ ซึ่งการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็น 1 ใน 5 ผู้ประกอบการ ซึ่งประกอบด้วย โรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว มัคคุเทศก์นำเที่ยว และชุมชนท่องเที่ยว ภายใต้ชื่อ Corporate Social Responsibility and Market Access Partnerships for Thai Sustainable Tourism Supply Chain Project, หรือมีชื่อย่อว่า CSR-MAP ได้มีการยกร่างมาตรฐานโดยการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการและชุมชน และมีกระบวนการทางวิชาการ ในการร่างมาตรฐานจากผู้เชี่ยวชาญ แจ่ยังไม่ได้รับการนำไปต่อยอดและปฏิบัติจากร กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในขณะนั้น

งานวิจัยสร้างรูปธรรม 


      ในปี พ.ศ.2555 สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT-I) ได้ดำเนินการวิจัยเรื่อง “การพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนสำหรับภูมิภาคอาเซียนสู่ความเป็นสากล” ซึ่งเป็นการต่อยอดองค์ความรู้จากโครงการ CSR-MAP โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และได้จัดทำคู่มือมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนขึ้น โดยมีสาระสำคัญดังนี้

จุดมุ่งหมายของมาตรฐาน CBT
          เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเพื่อการจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยที่ประชาชนมีส่วนร่วมและสร้างการยอมรับกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

องค์ประกอบของมาตรฐาน CBT
          มีองค์ประกอบ 5 ด้าน โดยการศึกษาเปรียบเทียบกับ GSTC , CSR-MAP , อพท. และนำมายกร่างโดยใช้กระบวนการวิจัยในการทดสอบซ้ำกับชุมชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว โดยองค์ประกอบ 5 ด้าน ได้แก่

          1) การบริหารจัดการอย่างยั่งยืน
          2) พัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่น
          3) ส่งเสริมวัฒนธรรม
          4) ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
          5) บริการและความปลอดภัย

แนวทางในการใช้มาตรฐาน CBT เป็นเครื่องมือในการพัฒนา

          1) ทำความเข้าใจกับเป้าหมาย CBT ของชุมชนว่าทำการท่องเที่ยวไปเพื่ออะไร
          2) ดูการจัดการว่ามีการจัดการโดยชุมชนหรือไม่ และการจัดการนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของคนในชุมชน ครบถ้วนทุกมิติ ทั้งสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อย่างไร
          3) มีการประเมินโดยคนในชุมชน เพื่อชุมชนจะได้ติดตามผลกระทบเชิงบวกและลบได้ทันท่วงที
          4) มีการประเมินโดยคนภายนอกเพื่อให้เห็นภาพที่ตรงกัน เป็นความเข้าใจร่วมกันในการยกระดับและพัฒนาต่อไป ในลักษณะพันธมิตรในการพัฒนา
          5) มีการสรุปเป็นรายงานเพื่อให้เห็นการประเมิน มีหลักฐานรองรับให้เห็นและตรวจสอบความน่าเชื่อถือได้

มาตรฐานสามารถนำมาเป็นแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคนที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันก็ช่วยทำให้คนทำงานมีวินัย มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ คำนึงถึงองค์ประกอบทุกด้านและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกส่วน

หลักการประเมินมาตรฐาน

          1) มีจุดมุ่งหมายในการประเมิน
          2) แบบฟอร์มที่ใช้ชุมชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย สามารถดาวน์โหลดได้ เป็นเอกสารที่ชุมชนเข้าใจ
          3) วิธีการประเมิน คนที่ประเมินช่วงเวลาที่ประเมิน มีการเตรียมการอย่างดีและทำงานเป็นทีม
          4) ประเมินทุกด้านครบถ้วนทุกมิติ
          5) มีระบบการให้คะแนนที่มีความแม่นยำในการให้ระดับ (ซึ่งผู้ประเมินส่วนใหญ่จะต้องผ่านการสอบการเป็นผู้ประเมิน หรือมีความเชี่ยวชาญและใช้กระบวนการกลุ่มในการหาข้อสรุปร่วม)
          6) มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการทำหน้าที่ประเมินหรืออ้างอิงกรอบในการประเมิน มีคู่มือในการประเมิน
          7) ผลที่ได้จากการประเมินนำไปใช้ในการพิจารณาเพื่อสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน สร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน
          8) กระบวนการประเมิน ผลของการประเมินมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้จากภาคีที่เกี่ยวข้อง
          9) ประกาศผลการประเมินหรือแจ้งผลการประเมินกับภาคีที่เกี่ยวข้องรับทราบและสร้างการยอมรับในทุกระดับ
          10) มีการประเมินมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ทำให้การประเมินกลายเป็นวิถีปฏิบัติในการทำงาน


บันได 4 ขั้นสู่การเตรียมความพร้อมในการประเมินมาตรฐาน

          1) ศึกษากรอบและเนื้อหาของมาตรฐาน วิเคราะห์ว่าที่กลุ่มท่องเที่ยวมีและไม่มีนั้นมีอะไรบ้าง (ใช้มาตรฐานในลักษณะการเป็น Checklist : แบบตรวจสอบ)
          2) วางแผนการพัฒนาเพื่อให้มีการดำเนินงานตามองค์ประกอบและประเด็นย่อยต่าง ๆ ที่ระบุในมาตรฐาน
          3) มีกระบวนการในการตรวจสอบความพร้อมด้วยการประเมินตัวเองเป็นระยะ ๆ โดยประเมินกันในกลุ่มท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะดูว่ามีหรือไม่ อาจสร้างระดับออกเป็น 4 ระดับ คือ ไม่มี พอใช้ ดี ดีมาก และแลกเปลี่ยนกันว่าคิดเห็นตรงกันหรือไม่ ในการหีระดับเพราะอะไร ซึ่งจะทำให้สมาชิกเห็นข้อบกพร่องร่วมกัน และปรับปรุงในส่วนที่บกพร่อง
          4) จัดเตรียมเอกสาร/หลักฐานอ้างอิง พร้อมให้หน่วยงานหรือบุคคลภายนอกที่รับผิดชอบมาประเมิน

องค์ประกอบของการรับรองมาตรฐานที่ถือปฏิบัติตามหลักสากล

          1) มีความชัดเจนว่ากลุ่มท่องเที่ยวเป็นเจ้าของและมีผู้รับผิดชอบในการประสานงานเพื่อการประเมินชัดเจน
          2) มีหน่วยงานที่ให้การรับรองมาตรฐาน มีระบบสมัครเพื่อรับการประเมิน
          3) ชุมชนสมัครเข้ารับการประเมินด้วยความสมัครใจ
          4) กระบวนการประเมินมีความน่าเชื่อถือ แม่นยำ
          5) มีการจัดสรรงบประมาณไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการประเมิน บางครั้งผู้ถูกประเมินเป็นผู้จ่าย เช่น การประเมินมาตรฐานโรงแรมสีเขียวของมูลนิธิใบไม้เขียวหรือบางครั้งรัฐให้การสนับสนุนงบประมาณในการประเมิน เช่น มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย เป็นต้น

ผลักดันสู่นโยบาย


               และในปีเดียวกันนี้เอง เกณฑ์มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและรับรองแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ขององค์การบริหารและพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน องค์การมหาชน หรือ อพท. และได้มีการจัดตั้งคณะทำงานรับรองแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่มีประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคประชาชน เพื่อร่วมกับปรับปรุงและพัฒนาเกณฑ์ให้มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยมากขึ้น ปี พ.ศ. 2557 อพท. ได้นำเกณฑ์ดังกล่าวทดลองใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนต้นแบบ 14 แห่งในพื้นที่พิเศษ โดยมีกระบวนการให้ชุมชนประเมินตนเอง นำผลการประเมินมาจัดทำเป็นแผนการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพชุมชน และมีการติดตามประเมินผลโดยคณะทำงาน ในปี พ.ศ. 2558 คณะทำงานได้รวบรวมข้อเสนอแนะการใช้เกณฑ์ในการพัฒนาจากชุมชน และภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงเป็นครั้งที่ 2 เพื่อให้เกิดความชัดเจนและครอบคลุมประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้การติดตามประเมินผลสามารถทำได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้นำเกณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาจนมีความสมบูรณ์แล้วไปใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกับชุมชนต่อไป (องค์การบริหารและพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน, 2559) โดยมีสาระสำคัญดังนี้

หลักการท่องเที่ยวโดยชุมชน

          การท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน มีหลักการดังนี้

                     1. ชุมชนเป็นเจ้าของ
                     2. ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและตัดสินใจ
                     3. ส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเอง
                     4. ยกระดับคุณภาพชีวิต
                     5. มีความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม
                     6. คงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น
                     7. ก่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างคนต่างวัฒนธรรม
                     8. เคารพในวัฒนธรรมที่แตกต่างและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
                     9. เกิดผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่คนท้องถิ่น
                    10. มีการกระจายรายได้สู่สาธรณประโยชน์ของชุมชน

          การที่จะให้ชุมชนดำเนินการท่องเที่ยวตามหลักการดังกล่าวข้างต้น มีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมและสร้างความเข็มแข็งให้กับชุมชนในการจัดการการท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันก็ต้องรณรงค์กับคนในสังคมให้เห็นความแตกต่างของการท่องเที่ยวโดยชุมชนกับการท่องเที่ยวทั่วไป กระตุ้นให้คนในสังคมเห็นความสำคัญและเป็นนักท่องเที่ยวที่สนใจการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเจ้าของบ้านกับผู้มาเยือน นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มการรับรู้และความเข้าใจในบทบาทของชุมชนท้องถิ่นต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นกำลังใจหรือสนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานอนุรักษ์ทั้งด้านธรรมชาติหรือวัฒนธรรม

          การท่องเที่ยวโดยชุมชนไม่ได้เกิดจากการตอบคำถามว่าชุมชนจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการท่องเที่ยว แต่เป็นการสร้างโจทย์ใหม่ว่า การท่องเที่ยวจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนได้อย่างไร


เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน

         เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนนั้นถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผน ดำเนินการและประเมินผลการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน อพท. โดยมีองค์ประกอบ 5 ด้าน ดังนี้

              1. กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนมีการจัดการอย่างยั่งยืน
              2. การท่องเที่ยวโดยชุมชนมีการกระจายผลประโยชน์สู่ท้องถิ่น สังคมและคุณภาพชีวิต
              3. การท่องเที่ยวโดยชุมชนมีการอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรม
              4. ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
              5. ด้านบริการและความปลอดภัย

           เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนนั้นถือเป็นหลักเกณฑ์ที่จะช่วยประเมินว่าชุมชนมีจุดแข็งจุดอ่อนในประเด็นใด เพื่อให้ชุมชนและหน่วยงานพี่เลี้ยงสามารถเติมเต็มและเสริมสร้างศักยภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ


วัตถุประสงค์ของเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน

เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนฉบับนี้ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ของการพัฒนาเกณฑ์ฯ นี้ มีด้วยกัน 3 ข้อ คือ

             1. เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน
             2. เพื่อเป็นเครื่องมือประเมินระดับการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน
             3. เพื่อเป็นเครื่องมือในการวางแผนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

          ทั้งนี้ การนำเกณฑ์ไปใช้ก็เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชนต้นแบบผ่านการขับเคลื่อนของกลุ่มส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่พิเศษต่างๆ โดยเป้าประสงค์ในระยะยาวของการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนก็คือ การที่แหล่งท่องเที่ยวมีระบบการบริหารจัดการที่มีมาตรฐานโดยกลุ่มส่งเสริมการท่องเที่ยวโยชุมชนเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเพื่อประโยชน์สูงสุดของชุมชนเอง

สู่การประกาศใช้อย่างภาคภูมิ

        เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council:  GSTC) ได้พิจารณาความสอดคล้องของมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. กับหลักเกณฑ์  GSTC และที่ประชุม GSTC Accreditation Panel ได้มีมติยอมรับ ‘เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของ ประเทศไทย’ เทียบเท่ากับหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสำหรับสถานที่ท่องเที่ยวของ GSTC ซึ่งเป็นที่ ยอมรับในระดับสากล (TAT Review 2562, ระบบออนไลน์) และในปีเดียวกันนี้เอง กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เผยแพร่มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน ถือเป็นเกณฑ์มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทยที่ถูกประกาศใช้โดยหน่วยงานภาครัฐ ที่มีกฎหมายเกี่ยวข้องในการกำกับดูแลด้านการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
   
       มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีการปรับเนื้อหาและเกณฑ์การประเมินเพิ่มเติมฉบับดิมของ อพท. โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ (กรมการท่องเที่ยว, 2561)

ความหมายของการท่องเที่ยวโดยชุมชน

การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ส่งเสริมให้ชุมชน มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยผ่นกระบวนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดทิศทางการพัฒนายกระดับ คุณภาพชีวิต และการกระจายรายได้ในท้องถิ่น

ขอบเขตของเกณฑ้มาตรฐานการท้องเที่ยวโดยชุมชน

1. คุณลักษณะพื้นฐานของการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นการดำเนินงาน ด้านการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่ส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถ พึ่งพาตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยผ่านกระบวนการการบริหารจัดการ และการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างมีมาตรฐาน ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในทุน ทรัพยากรทางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม สู่การเรียนรู้อย่างยั่งยืน และ สร้างสรรค์ระหว่างเจ้าบ้านและผู้เยี่ยมเยือน

2. คุณลักษณะพื้นฐานของผู้ขอรับตรวจประเมินมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้แก่ 1) เป็นผู้นำชุมชนหรือผู้นำกลุ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชน   2) มีขอบเขตการปกครองที่มี่ระบบการดำเนินงานของชุมชนที่เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่น  3) เปิดโอกาสให้ชุมชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ   4) สามารถเลือกตั้งผู้นำชุมชนเข้ามาบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตของตนได้   5) มีสถานที่ตั้งและที่อยู่ ติดต่อที่ชัดเจน   6) มีหนังสือรับรองกลุ่มหรือชมรมจากหน่วยงานของรัฐเป็นลายลักษณ์อักษร

3. เกณฑ์บังคับของผู้ขอรับตรวจประเมินมาตรฐาน โดยการดำเนิน การของชมุชนจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนด ข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของ ส่วนราชการที่มีอำนาจในการควบคุม ดูแล ของระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น

การตรวจประเมินมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน

        มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน หมายถึง หลักเกณฑ์และการ ตรวจสอบการดำเนินการของกลุ่ม/องค์กรท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่ประกอบด้วย หลักเกณฑ์ 6 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน (2) ด้านการจัดการเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตที่ดี (3) ด้านการอนุรักษ์ และส่งเสรมิมรดกทางวัฒนธรรมชุมชน (4) ด้านการจดัการทรพัยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน (5) ด้านคุณภาพการบริการการ ท่องเที่ยวโดยชุมชน และ (6) ด้านส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ ด้านการเข้าถึงตลาด และการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการนำเที่ยวภายนอก

 

ดาวน์โหลดมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนฉบับล่าสุดได้ที่ ลิงค์ด้านล่างนี้

มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน ประเทศไทย

 

เอกสารอ้างอิง 

    กรมการท่องเที่ยว. (2561). มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน. (2556). คู่มือมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงใหม่ : วนิดาการพิมพ์

    องค์การบริหารและพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน). (2559). เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย. กรุงเทพฯ.

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้