แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน กับการจัดการขยะขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างเป็นระบบ

Last updated: 26 ก.ย. 2565  |  4703 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน กับการจัดการขยะขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างเป็นระบบ

เขียน/เรียบเรียง : วรพงศ์ ผูกภู่, ศุภรัตน์ นามมนตรี บริษัท อาร์แอนด์ดี ครีเอชั่น จำกัด 
26 กันยายน 2565 

แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน กับการจัดการขยะขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างเป็นระบบ

     ปัญหาขยะเป็นปัญหาระดับโลกที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลกเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้ชัดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis) ปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความแห้งแล้ง น้ำท่วม ไฟป่า มลภาวะทางสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก และคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้มาจากการใช้ชีวิตของมนุษย์
     สถานการณ์ขยะของประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สถานการณ์ขยะมูลฝอยในปี 2564 เกิดขึ้น 24.98 ล้านตัน ลดลงจากปี 2563 ประมาณ 1% โดยมีปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ 7.89 ล้านตัน ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดถูกต้อง 9.28 ล้านตัน ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้อง 7.81 ล้านตัน และปริมาณขยะมูลฝอยตกค้าง 7.50 ล้านตัน
     ดังนั้นปัญหาขยะจึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดชนภาคประชนชน จึงให้ความสำคัญต่อการจัดการปัญหาขยะ มีการพัฒนาวิธีการและแนวทางต่างๆ ในการจัดการขยะ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด อาทิ ลดการใช้ถุงพลาสติกและแยกขยะรีไซเคิล นโยบายการลดและคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ก่อนที่ขยะแต่ละประเภทจะถูกนำไปจัดการหรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและเหมาะสมตามประเภทของขยะนั้นๆ

ตัวอย่างชุมชนพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางในแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน

 “ชุมชนบ้านเขาพระ” หมู่ที่ 5 ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ชุมชนพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีการจัดการขยะ ภายใต้การส่งเสริม สนับสนุนของสำนักงานพื้นที่พิเศษ 7 ซึ่งได้ตระหนักถึงปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในแหล่งท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้น การบริหารจัดการขยะในแหล่งท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด สามารถลดจำนวน ปริมาณขยะได้จริง มีระบบและแผนในการจัดการอย่างต่อเนื่อง ได้ดำเนินกิจกรรมพัฒนาแนวทางการจัดการขยะของแหล่งท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษ 7 ภายใต้โครงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว กิจกรรมพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อยกระดับแหล่งท่องเที่ยวสู่ระดับมาตรฐานสากล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

ชุมชนบ้านเขาพระ มีจุดแข็งคือ ชุมชนเป็นที่ตั้งของแหล่งท่องเที่ยว/แหล่งเรียนรู้ ที่สำคัญของเมืองโบราณอู่ทอง มีผู้นำชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อม มีรูปแบบการจัดกิจกรรมและให้บริการทางการท่องเที่ยว อยู่บนฐานแนวคิดของการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีประสบการณ์ในการทำงานด้านการจัดการขยะ และยังคงมีการขับเคลื่อนกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

กิจกรรมพัฒนาแนวทางการจัดการขยะของแหล่งท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษ 7 ภายใต้โครงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งมีชุมชนบ้านเขาพระเป็นชุมชนพื้นที่ต้นแบบการดำเนินงานนี้ เริ่มจากการสำรวจข้อมูลปริมาณขยะแต่ละประเภทและวิธีการจัดการขยะของชุมชน ทั้งนี้ได้ศึกษา 2 สถานการณ์ คือ ปริมาณขยะในวันปกติ และปริมาณขยะในวันที่จัดกิจกรรมหรือมีการให้บริการท่องเที่ยว เพื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบอัตราการเกิดขยะ จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ประเภทและปริมาณของขยะเฉลี่ยของในวันปกติกับปริมาณขยะเมื่อมีการจัดกิจกรรมหรือให้บริการท่องเที่ยว ของแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่พิเศษ 7 พบว่า ในวันปกติขยะส่วนใหญ่เป็น ขยะประเภทใบไม้ กิ่งไม้ เศษไม้ คิดเป็น 31% รองลงมาเป็นขยะประเภทขยะเปียก/เศษอาหาร 23% และประเภทขวดน้ำ แก้วน้ำ หลอด พลาสติก 18% ดังภาพที่ 9 และเมื่อมีการจัดกิจกรรมหรือให้บริการท่องเที่ยว ขยะส่วนใหญ่เป็นขยะประเภทขยะเปียก/เศษอาหาร คิดเป็น 53% รองลงมาเป็นประเภทขวดน้ำ แก้วน้ำ หลอด พลาสติก 19% และประเภทใบไม้ กิ่งไม้ เศษไม้ คิดเป็น 14% ทั้งนี้คณะทำงานได้นำข้อมูลจากการสำรวจมาใช้เป็นแนวทางในการจัดการขยะในแหล่งท่องเที่ยว/แหล่งเรียนรู้ของชุมชนบ้านเขาพระอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด

การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ของแหล่งท่องเที่ยว/แหล่งเรียนรู้ ชุมชนบ้านเขาพระ
มีวิธีการจัดการและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ดังนี้

1. ออกแบบกิจกรรมและการให้บริการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

- งดใช้ขยะประเภทโฟม หลอดพลาสติก แก้วพลาสติก หากจำเป็นต้องใช้จะนำมาใช้ให้น้อยที่สุด (ในช่วงการแพร่ระบาดของโรควิค 19 แหล่งท่องเที่ยว มีการใช้ขวดน้ำพลาสติกบ้าง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และลดความกังวลของนักท่องเที่ยว)

- เน้นการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งมีความปลอดภัยจากสารเคมี ลดการนำขยะมาจากภายนอก โดยบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่างๆ นอกจากนั้นการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นยังช่วยการใช้พลังงานในการขนส่งด้วย

- เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ในการให้บริการที่สามารถใช้ซ้ำหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ใช้ภาชนะใส่อาหารแบบเซรามิคหรือสแตนเลส ให้บริการน้ำดื่มแบบเติมได้แทนน้ำดื่มแบบขวด เป็นต้น

2. จัดการขยะอย่างเป็นระบบ มีการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

- ติดตั้งอุปกรณ์การคัดแยกขยะในแหล่งท่องเที่ยว/แหล่งเรียนรู้
การติดตั้งอุปกรณ์คัดแยกขยะในแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ โดยออกแบบอุปกรณ์คัดแยกขยะแต่ละประเภทอย่างถูกต้อง ขยะที่มีการคัดแยกแล้ว จะสามารถนำไปจัดการอย่างถูกวิธีหรือเปลี่ยนเป็นมูลค่าต่อไป


 
- ใช้ถังดักไขมัน ช่วยดักจับไขมันและดักกรองเศษอาหาร
ถังดักไขมัน จะช่วยดักจับไขมันและดักกรองเศษอาหารจากการล้างภาชนะก่อนที่จะปล่อยน้ำลงสู่ธรรมชาติ ทำให้น้ำทิ้งที่ปล่อยออกมาไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม


 
- การจัดการขยะประเภทเศษอาหารให้เป็นปุ๋ย
จัดทำถังอุปกรณ์ทิ้งขยะเปียกและเศษอาหาร ที่หลงเหลือจากการบริโภคในชีวิตประจำวันและจากการให้บริการนักท่องเที่ยว เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้เป็นปุ๋ยแก่พันธุ์ไม้และพืชผลทางการเกษตร



จัดทำปุ๋ยหมักจากพืชและเศษวัสดุที่หลงเหลือจากการเกษตร
จัดทำปุ๋ยหมักจากพืชและเศษวัสดุที่หลงเหลือจากการเกษตร โดยการนำเศษวัสดุทางการเกษตรเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการบำรุงพืช บำรุงดิน ลดการเผาในที่โล่งแจ้ง ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ รวมทั้งเพื่อรักษาระบบนิเวศของพื้นที่

แนวคิดการจัดการขยะ ตามแผนการจัดการขยะ “เขาพระโมเดล”
 
ที่มา : กิจกรรมพัฒนาแนวทางการจัดการขยะของแหล่งท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษ 7, 2565


การพัฒนาแนวทางการจัดการขยะของแหล่งท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษ 7 ภายใต้โครงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว ในพื้นที่ต้นแบบชุมชนบ้านเขาพระ ให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง มีการพัฒนาวิธีการจัดการขยะที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือ การหมุนเวียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย วัตถุดิบ สินค้าที่หมดอายุ และพลังงาน ให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม (SCG Circular Way, ออนไลน์ www.scg.com/sustainability/circular-economy/scg-circular-way/) สร้างการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นพลังความร่วมมือที่ขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ นำทางไปสู่การจัดการชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม


เอกสารอ้างอิง
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สถานการณ์ขยะมูลฝอยในปี 2564
รายงานสรุปผลการดำเนินกิจกรรมพัฒนาแนวทางการจัดการขยะของแหล่งท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษ 7 ภายใต้โครงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว กิจกรรมพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อยกระดับแหล่งท่องเที่ยวสู่ระดับมาตรฐานสากล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

SCG Circular Way, ออนไลน์ www.scg.com/sustainability/circular-economy/scg-circular-way/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้