Last updated: 17 ส.ค. 2563 | 12034 จำนวนผู้เข้าชม |
ผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว
วรพงศ์ ผูกภู่ (บริษัท อาร์แอนด์ดี ครีเอชั่น จำกัด)
แนวคิดเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อการท่องเที่ยว มีบทบาทสำคัญมากโดยเฉพาะในระดับนโยบาย จะเห็นได้จากโครงการ Mega Project ที่สะเทือนวงการการท่องเที่ยวโดยชุมชน อย่าง โอทอปนวัตวิถี หรือ OTOP Innovative ที่ทุ่มงบประมาณมหาศาลและปูพรมมากกว่า 3,000 ชุมชน ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้
สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของ ผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว นั้นมีอะไรบ้าง ใช่ หรือ ต่าง จากสิ่งเกิดขึ้นมากมาย ในทุกวันนี้อย่างไร ติดตามหาคำตอบร่วมกันครับ ต้องยอมรับว่า ผลิตภัณฑ์(ชุมชน)เป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กับการท่องเที่ยว ในเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลก ก็ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ เพราะเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สร้างงาน สร้างอาชีพ ที่ชัดเจน
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว จึงเป็นกระบวนการที่สำคัญ และมีรายละเอียด เพราะจะต้องเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นมาและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นได้อย่างชัดเจน มีเรื่องราวที่น่าสนใจ สอดคล้องกับบริบททางนิเวศน์และวัฒนธรรมของพื้นที่ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากฐานความรู้เดิมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น และต้องมีการต่อยอดและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องความสนใจของผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ ที่ไม่ได้แค่วางจำหน่าย แต่ต้องเป็นสิ่งที่นำไปสู่กิจกรรมและการเรียนรู้ด้วย ทั้งในด้านของคุณค่า แหล่งที่มา และขั้นตอนการผลิต ผ่านประสาทสัมผัส ทั้ง 6 ที่ก่อให้เกิดประสบการณ์แก่นักท่องเที่ยว หรืออาจจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เคลื่อนย้ายกระบวนการเรียนรู้ไปได้ทุกหนแห่ง
คำถามที่หลายชุมชนพบจากผู้ส่งเสริมหรือนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ คือ มีของดีอะไรบ้าง ? อัตลักษณ์ของชุมชนคืออะไร ? แน่นอนที่สุด นี่คือคำถามที่นำไปสู่การเลือกสรร สิ่งที่จะนำมาต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์ชุมชน แต่คำถามที่ฟังแล้วเข้าใจ แต่ยากที่จะตอบ เพราะ คำถามเหล่านี้ ต้องอาศัยข้อมูลและการวิเคราะห์ !!
ดังนั้น สิ่งสำคัญของกระบวนการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว คือ ต้องเริ่มจากค้นหาข้อมูลเสียก่อน ทั้งจากการระดมความคิด การลงพื้นที่เพื่อสำรวจ การลงพูดคุยกับผู้รู้ เจ้าของภูมิปัญญา เจ้าของทรัพยากร ทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปในสิ่งนั้น และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองผ่านเลนส์ที่หลาย เช่น เลนส์ประวัติศาสตร์ เลนส์ภูมิศาสตร์เลนส์วิทยาศาสตร์ เลนส์สังคมวิทยา เป็นต้น
โดยทำในรูปแบบกระบวนการมีส่วนร่วม คือ ให้ผู้ที่เป็น User หรือ ชาวบ้าน เป็นผู้เรียนรู้ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล เพราะในท้ายที่สุดแล้ว เขาคือผู้ถ่ายทอดเรื่องราวในตัวผลิตภัณฑ์นั้น ข้อมูลที่ได้มา นำมาวิเคราะห์ผ่านเลนส์หลายเลนส์และเลือกสรรสิ่งจะเป็นตัวแทนในการอธิบายความเป็นตัวตนของชุมชน ได้ดีที่สุด ที่เชื่อมโยงไปได้หลายมิติ จากกระบวนการนี้ คงจะคลี่คลายคำถามที่ว่า อัตลักษณ์ของชุมชนคืออะไร ได้ชัดเจนขึ้น
ตัวอย่างในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว ของบ้านสาแพะ หมู่ที่ 3 ต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ที่ได้เริ่มต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว ที่มีอัตลักษณ์และเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน นั่นคือ “ชาหญ้าหอมดอยฟ้างาม”
ดอยฟ้างามเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ที่กำลังโดดเด่นในจังหวัดลำปาง เป็นผลพวงจากการพัฒนาและอนุรักษ์ป่าของชุมชนบ้านสาแพะ จึงทำให้ป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งทรัพยากรป่าไม้และแหล่งน้ำ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องราวการฟื้นฟูป่าไม้และแหล่งน้ำ โดยศาสตร์พระราชา (ในหลวงรัชการลที่ 9) และเพื่อเป็นการป้องกันการบุกรกพื้นที่ป่าของผู้ไม่หวังดี การท่องเที่ยวดอยฟ้างามเป็นที่รู้จักของนักเดินทางมากขึ้น เนื่องจากเป็นจุดชมวิวทะเลหมอกที่สวยงาม นับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2560 มีนักท่องเที่ยวไปเยือนแล้วกว่า 20,000 คน
การท่องเที่ยวดอยฟ้างามเติบโตไปตามกระแส ความงดงามของแหล่งท่องเที่ยว ที่เรียกว่าเป็น Unseen ลำปาง แต่การท่องเที่ยวยังไม่ได้สร้างการเรียนรู้และเปิดโอกาสให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอเรื่องราวของตนเอง จึงเป็นที่มาของการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านสาแพะ โดยการสนับสนุนของ บ.ปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด และการสนับสนุนกระบวนการทำงานของผู้เขียน โดยเป็นกระบวนการทำงานที่ชาวบ้านสาแพะเป็นผู้ดำเนินโครงการ ผลผลิตหลักของโครงการ คือการพัฒนาให้เกิดรูปแบบการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่นำเสนอกิจกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชน การบริการโฮมสเตย์ และกิจกรรมการเรียนรู้ของคนในชุมชน ทั้งเกษตรกร ผู้สูงอายุ และวัด สู่การบริหารจัดการการท่องเที่ยวก่อให้เกิดการมีส่วนร่วม การกระจายรายได้ มากขึ้น โดยนำรายได้ส่วนหนึ่งไปกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อม
ชาหญ้าหอมดอยฟ้างาม เกิดขึ้นจากกระบวนการวิเคราะห์ของดีชุมชนและสำรวจแหล่งท่องเที่ยวทำให้พบพืชที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นพืชสมุนไพร ที่คนในชุมชนใช้กันมายาวนาน มีลักษณธพิเศษคือ มีกลิ่นหอมคล้ายตะไคร้ และให้รสหวานอ่อน ๆ พบมากบริเวณดอยฟ้างาม ที่เป็นภูเขาดินขาว (ดินที่ใช้ทำเซรามิก) ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 700-800 เมตร มีลักษณะต้นคล้ายหญ้าคา ชาวบ้านนิยมนำมาต้นดื่มในช่วงฤดูหนาว เชื่อว่ามีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย นี่คือจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวที่ชื่อว่า “ชาหญ้าหอมดอยฟ้างาม” ที่เป็นพืชพรรณท้องถิ่นที่มีเอกษณ์เฉพาะ ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์และภูมิปัญญาชาวบ้าน เมื่อได้ วัตถุดิบและเนื้อหา ที่จะเป็นสิ่งตั้งต้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวแล้ว กระบวนการต่อไปคือการแปรรูปและยกระดับ เราเลือกใช้กระบวนการที่ไม่ซับซ้อนและประหยัดที่สุดก่อน คือ การคั่วชา เนื่องจากคุณสมบัติเบื้องต้นของหญ้าหอมนั้น เหมาะกับการเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และชุมชนยังขาดเครื่องดื่มที่มีเอกลักษณ์ในการให้บริการนักท่องเที่ยว ชาจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
เรานำหญ้าหอมมาจากแหล่งที่ต่างกัน เช่น ตีนดอย กลางดอย และยอดดอย รวมทั้งแบ่งหญ้าหอมออกเป็น 3 ส่วน คือ ใบ ต้น และราก เพื่อหาความแตกต่าง และคุณสมบัติพิเศษ กระบวนการทดลองได้เริ่มขึ้นไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้ของชาวบ้าน ที่ร่วมกันในทุกขั้นตอน คนละไม้คนละมือ บ้างก็ล้าง บ้างก็หั่น บ้างก็เตรียมอุปกรณ์ในการตาก
หลังจากนั้นจึงเป็นการเรียนรู้ วิธีการและเทคนิคในการคั่วชา ผลการทดลอง ทำให้ค้นพบว่า หญ้าหอมจากทั้ง 3 แหล่ง ให้ผลต่างกัน โดย หญ้าหอมจากยอดดอย มีคุณลักษณะเด่นที่สุด ทั้งกลิ่นหอมและรสชาติ ส่วนต่าง ๆ ของต้นหญ้าหอม ก็มีคุณสมบัติแตกต่างกัน ใบ มีรสหวานอ่อนๆ รากมีกลิ่นก็หอมชัดเจนที่สุด ลำต้นมีคุณลักษณะกลางๆ เป็นต้น
เมื่อทราบถึงคุณลักษณะสำคัญของผลิตภัณฑ์แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการพัฒนาระบบการผลิตที่มีมาตรฐาน และการค้นหาข้อมูลประกอบ เช่น สรรพคุณทางยา ข้อมูลทางพันธุ์พืช และการพัฒนาแหล่งผลิตและแหล่งเรียนรู้ ตลอดจนบรรจุภัณฑ์และการรักษาผลิตภัณฑ์
3 ก.พ. 2563