วิถีวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น มูลค่าและคุณค่าในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

Last updated: 26 ก.ย. 2565  |  15728 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วิถีวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น มูลค่าและคุณค่าในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

เขียน/เรียบเรียง : ศุภรัตน์ นามมนตรี,วรพงศ์ ผูกภู่ บริษัท อาร์แอนด์ดี ครีเอชั่น จำกัด 
26 กันยายน 2565 
 
วิถีวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น มูลค่าและคุณค่าในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
 
     การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) เป็นอีกเทรนด์ท่องเที่ยวหนึ่งที่กำลังมาแรงในปี 2022 อาหารเป็นสิ่งที่สะท้อนเอกลักษณ์วัฒนธรรมการกินของท้องถิ่นนั้นๆ และเป็นสิ่งจูงใจในการเลือกสถานที่ท่องเที่ยว ให้เดินทางเข้ามาสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยว อาหารจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและภาคการเกษตรจากวัตถุดิบต่างๆ ที่นำมาประกอบอาหาร ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมการกินที่แตกต่างกันออกไปตามทรัพยากรหรือวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นนั้นๆ
     ยกตัวอย่างเมนูอาหารที่เป็นที่นิยมและเป็นสื่อที่สร้างความรู้จักแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี เช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยก็จะนึกถึงต้มยำกุ้ง ผัดไทย ผลไม้ไทย ไปเที่ยวญี่ปุ่นก็จะนึกถึงราเมง เนื้อย่าง ไปเที่ยวเชียงใหม่ก็ต้องกินข้าวซอย หรือไปเที่ยวทะเลก็ต้องกินอาหารทะเลสดๆ
      นาเกลือ พัทยา แหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ วิถีวัฒนธรรมอาหารที่ขึ้นชื่อของพัทยา อีกจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่ต้องการรับประทานอาหารทะเลสดๆ โดยมี “ตลาดลานโพธิ์นาเกลือ” แหล่งรวมอาหารทะเลสด นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปท่องเที่ยวนาเกลือ ส่วนใหญ่มักจะไม่พลาดที่จะมาซื้อและทานอาหารทะเลที่นี่ นอกจากนั้นที่ตลาดลานโพธิ์แห่งนี้ยังมีบริการปรุงอาหารสุกให้กับนักท่องเที่ยว และร้านอาหารท้องถิ่นขึ้นชื่อหลายร้านให้นักท่องเที่ยวได้สร้างประสบการณ์ผ่านเมนูอาหารท้องถิ่นหลากหลายรูปแบบได้ตามความสนใจ
 
  
     ในปี 2565 สำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 หรือ อพท.3 ได้มอบหมายให้บริษัท อาร์แอนด์ดี ครีเอชั่น จำกัด ดำเนินกิจกรรมพัฒนาและจัดเก็บข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องกับเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ในแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบของสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อดำเนินการจัดเก็บข้อมูลด้านเศรษฐกิจในแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบพื้นที่ตำบลนาเกลือที่สอดคล้องกับเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) 2) เพื่อประเมินข้อมูลการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวของแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบพื้นที่ตำบลนาเกลือ 3) เพื่อวิเคราะห์การกระจายรายได้ในภาคการท่องเที่ยวของแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบพื้นที่ตำบลนาเกลือที่สอดคล้องกับเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) และ 4) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องกับเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) ของแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบพื้นที่ตำบลนาเกลือ
      จากส่วนหนึ่งของการศึกษาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวนาเกลือ พบว่า ผู้มาเยี่ยมเยือนส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อพักผ่อนในวันหยุดกับครอบครัวญาติพี่น้อง (ร้อยละ 72.4) รองลงไปคือเพื่อมารับประทานอาหารท้องถิ่น (ร้อยละ 28.7) สะท้อนให้เห็นว่าอาหารท้องถิ่นเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการจูงใจนักท่องเที่ยว
      นอกจากนั้นจากการศึกษา พบว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยี่ยมเยือนแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่นาเกลือได้ใช้จ่ายเงินเป็นค่าอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉลี่ย 286.86 บาทต่อคนต่อทริป (คิดคำนวณเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 13.6 ล้านบาทต่อปี) โดยผู้เยี่ยมเยือนที่เป็น “นักท่องเที่ยว” ได้ใช้จ่ายเงินคนละ 386.06 บาทต่อคนต่อทริป ในขณะที่ “นักทัศนาจร” ได้ใช้จ่ายเงินน้อยกว่า คือคนละ 262.90 บาทต่อคนต่อทริปผู้มาเยี่ยมเยือนทั้งหมดได้มาใช้บริการจากร้านอาหารและเครื่องดื่มที่อยู่ในพื้นที่นาเกลือ โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 60) ได้ใช้บริการจากร้านค้าแผงลอยที่มีอยู่ไม่น้อยกว่า 184 ร้านค้าแผงลอย ส่วนที่เหลือ (ร้อยละ 40) ได้ใช้บริการจากร้านอาหารซึ่งอยู่ในอาคารและมีโต๊ะเก้าอี้บริการ จำนวนไม่น้อยกว่า 18 ร้าน
     การท่องเที่ยวของนาเกลือ เป็นตัวอย่างของแหล่งท่องเที่ยวที่ใช้วัฒนธรรมอาหารมาเป็นจุดขาย เป็นแรงจูงใจหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ด้วยการมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงอาหารให้กับผู้มาเยือนผ่านเมนูอาหารท้องถิ่น จากวัตถุดิบสดใหม่จากอ่าวนาเกลือ ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล สร้างรายได้ให้กับแหล่งท่องเที่ยว พ่อค้าแม่ค้า ตลอดจนชาวประมงและคนในชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่ของการท่องเที่ยวเชิงอาหารแห่งนี้

เอกสารอ้างอิง
รายงานฉบับสมบูรณ์ “การจ้างพัฒนาและจัดเก็บข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องกับเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ในแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบของสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยวิธีเฉพาะเจาะจงองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)”

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้