องค์ประกอบการพัฒนาแหล่งเรียนรู้

Last updated: 3 เม.ย 2563  |  41589 จำนวนผู้เข้าชม  | 

องค์ประกอบการพัฒนาแหล่งเรียนรู้

องค์ประกอบการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้
เรียบเรียงโดย วรพงศ์ ผูกภู่ (บริษัท อาร์แอนด์ดี ครีเอชั่น จำกัด)

          แหล่งเรียนรู้ หมายถึง แหล่งข้อมูลความรู้ ทั้งที่อยู่ในตัวบุคคล สถานที่ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และประสบการณ์ ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ สามารถหาความรู้และเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

จากการศึกษาข้อมูลและประสบการณ์การทำงาน เพื่อค้นหาแนวทางการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ พบว่าการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 7 ด้าน              

1. ข้อมูล/ชุดความรู้

ข้อมูล หรือเรื่องราว หรือสิ่งที่ได้จากแหล่งที่มาของความรู้ มีการนำมาเรียบเรียงให้เป็นระบบ เป็นหมวดหมู่ สามารถทำความเข้าใจได้และพร้อมต่อการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ ทั้งความรู้ที่ฝังอยู่ในคน (Tacit Knowledge) ซึ่งเป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ พรสวรรค์หรือสัญชาตญาณของแต่ละบุคคล เช่น ทักษะในการทำงาน ความคิดทัศนคติ และความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) ซึ่งเป็นความรู้ที่เป็นเหตุเป็นผล ผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์จนเป็นหลักทั่วไป สามารถรวบรวมและถ่ายทอดได้  โดยผ่านวิธีต่างๆ เช่น การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ทฤษฎี หนังสือ คู่มือต่างๆ และบางครั้งเรียกว่าเป็นความรู้แบบรูปธรรม การเก็บข้อมูลจากแหล่งความรู้ขึ้นอยู่กับลักษณะของที่มา เช่น ถ้าเป็นสถานที่อาจเก็บภาพถ่าย พร้อมประวัติความเป็นมา ความสำคัญของแหล่งความรู้ หรือถ้าเป็นตัวบุคคล อาจเก็บข้อมูลประวัติย่อ บทสัมภาษณ์ คุณงามความดี บันทึกประสบการณ์หรือความรู้ที่มี แต่ถ้าหากอยู่ในรูปแบบของประเพณี อาจบันทึกถึงความเป็นมา ความสำคัญ พิธีกรรมหรือขั้นตอนการปฏิบัติ เป็นต้น

2. ผู้ให้ข้อมูล/ผู้ถ่ายทอด

หมายถึง บุคคลที่สามารถบอกเล่าหรือถ่ายทอดข้อมูล ชุดความรู้นั้นๆ แก่ผู้เรียน ให้เกิดการเรียนรู้ เกิดความเข้าใจ และสร้างประสบการณ์ได้ ผู้ให้ข้อมูลต้องมีความเชี่ยวชาญ มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่ถ่ายทอดเป็นอย่างดี และสามารถนำเสนอเรื่องราวออกมาได้อย่างน่าสนใจ

3. การออกแบบและการจัดลำดับ

หมายถึง ขั้นตอน วิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ รูปแบบการเผยแพร่ หรือการนำข้อมูล เนื้อหาความรู้มาถ่ายทอดให้กับผู้ที่สนใจ เช่น การลำดับเรื่องราว เหตุการณ์ที่นำเสนอ การจัดทำกิจกรรมสาธิต เป็นต้น

4. กิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้

หมายถึง กิจกรรมและกระบวนการที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ เช่น การจัดกิจกรรมที่เน้นการเรียนรู้จากการลงมือทำ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง เป็นต้น

5.  สื่อการเรียนรู้

หมายถึง สื่อรูปแบบต่าง ๆ ที่ทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากกว่าการได้ฟังบรรยายเพียงอย่างเดียว เช่น อุปกรณ์สาธิต สิ่งของจริง (ของจริง) ป้ายข้อมูล โมเดลจำลอง วีดีทัศน์ เทคโนโลยีสื่อเสมือนจริง สื่ออินเตอร์แอคทีฟ แอนิเมชั่น เกมมัลติมีเดีย เป็นต้น การเลือกใช่สื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย สัมพันธ์กับข้อมูล จะช่วยสร้างความน่าสนใจให้แหล่งเรียนรู้ และช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้

6.  สถานที่

ส่วนใหญ่ใช้สถานที่จริงหรือแหล่งที่มาของความรู้เป็นสถานที่จัดการเรียนรู้ เพราะจะสามารถเรียนรู้ได้จากสถานที่จริง ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านของผู้รู้ แปลงเกษตร ฟาร์ม วัด ป่า ฯลฯ โดยมีการปรับสภาพแวดล้อมของแหล่งเรียนรู้ให้เป็นห้องเรียน ไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องที่เป็นทางการ แต่ถ้าหากแหล่งเรียนรู้ไม่สะดวกต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ ก็อาจใช้สถานที่อื่นที่ใกล้เคียง สร้างบรรยากาศ หรือเอื้อต่อการจัดการเรียนรู้

7. การบริหารจัดการ

แหล่งเรียนรู้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบชัดเจน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่เป้าหมายของแหล่งเรียนรู้ ดังนั้นจึงต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งการวางแผนการปฏิบัติงาน การบริหารจัดการคณะทำงานที่ขับเคลื่อนงานของแหล่งเรียนรู้ การจัดการงบประมาณหรือแหล่งที่มาของรายได้

องค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ 7 ด้าน
 


 ที่มา : วรพงศ์ ผูกภู่ (2561)
 

 
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้