คิดเชิงระบบด้วย BCG กับการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน

Last updated: 8 ก.ย. 2565  |  9031 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คิดเชิงระบบด้วย BCG กับการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน

เขียน/เรียบเรียง : วรพงศ์ ผูกภู่, ศุภรัตน์ นามมนตรี บริษัท อาร์แอนด์ดี ครีเอชั่น จำกัด 
8 กันยายน 2565 

คิดเชิงระบบด้วย BCG กับการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน

      โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG หรือมักเรียกกันสั้นๆ ว่า BCG Model เป็นนโยบายของภาครัฐภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย BCG เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2564-2569 มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับ 4 สาขายุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) เกษตรและอาหาร (2) สุขภาพและการแพทย์ (3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ (4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่มุ่งพัฒนา 3 เศรษฐกิจ ไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด โดยทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน หลักการดำเนินงาน BCG เป็นขับเคลื่อนโดยกลไกการทำงานร่วมกันของสี่ภาคส่วนหลัก (จตุภาคี) คือ ภาคเอกชน ภาครัฐ มหาวิทยาลัย และชุมชน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากพันธมิตรความร่วมมือในระดับโลก ให้ความสำคัญกับทั้งการแข่งขันได้ในระดับโลกและการส่งต่อผลประโยชน์สู่ชุมชน

เมื่อชุมชนเลือกใช้แนวคิด BCG Model

         การขับเคลื่อน BCG ในระดับชุมชน บางคนอาจตั้งคำถามว่าจะเป็นเรื่องยากหรือไม่ จะมีรูปแบบหรือแนวทางการดำเนินงานอย่างไรได้บ้าง ที่จะตอบโจทย์หัวใจสำคัญของ BCG ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบควบคู่กัน ทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจชุมชน บทความนี้จะขอยกกรณีการดำเนินงานกิจกรรมที่บริษัท อาร์แอนด์ดี ครีเอชั่น จำกัด ได้มีโอกาสดำเนินงาน “กิจกรรมพัฒนากลไกชุมชนนักคิดเชิงระบบด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) เพื่อเสริมสร้างการจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ร่วมกับชุมชนในพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (อพท.7) อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ภายใต้การสนับสนุนขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) โดย สำนักงานพัฒนาพื้นที่พิเศษ 7 (อพท.7)
         กิจกรรมพัฒนากลไกชุมชนนักคิดเชิงระบบด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) เพื่อเสริมสร้างการจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อนกิจกรรม 4 ประการ คือ 1) เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรของชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นชุมชนนักคิดเชิงระบบด้วยรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2) เพื่อจัดการความรู้ฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่การสร้างคุณค่าและมูลค่า ด้วยรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ให้กับแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 3) เพื่อต่อยอดองค์ความรู้จากฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่กระบวนการพัฒนาเชิงบูรณาการ และ 4) เพื่อวิเคราะห์ผลผลิตของโครงการที่มีความสอดคล้องกับเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC)
          ในกระบวนการดำเนินงานกิจกรรมฯ ได้ประกาศเชิญชวนแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่พิเศษ 7 เมืองโบราณอู่ทอง ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม โดยให้ชุมชนที่สนใจออกแบบและเสนอโครงการด้านการท่องเที่ยวที่ชุมชนต้องการดำเนินงานเพื่อประกอบการคัดเลือก ทั้งนี้มีชุมชนที่ได้รับการคัดเลือก มี 4 ชุมชน/กลุ่ม ได้แก่ วิสากิจชุมชนตำลึงหวาน วิสาหกิจชุมชนบ้านตำนานดิน วิสาหกิจชุมชนวนเกษตรดงเย็น และชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัติวิถีป่าสะแก (อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี) หลังจากนั้นคณะทำงานได้สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) กับชุมชนผู้เข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งพัฒนาศักยภาพชุมชนในการพัฒนาโครงการ/กิจกรรมที่ชุมชนได้เสนอให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกับ BCG Model โดยตลอดการดำเนินงานจะมีหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้ เทคนิค การคิดเชิงระบบ การสร้างนวัตกรรมด้วยแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) มีการหนุนเสริมกระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ข้อมูล เพื่อนำมาต่อยอดให้เกิดการสร้างนวัตกรรม และแผนการขับเคลื่อนผลผลิตของแต่ละโครงการ จากคณะทำงานบริษัท อาร์แอนด์ดี ครีเอชั่น จำกัด (ทีมพี่เลี้ยง) และที่ปรึกษาโครงการ โดยบูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

โครงการพัฒนามาตรฐานเกษตรปลอดภัยและเกษตรอัจฉริยะสร้างมูลค่าเพิ่ม โดย วิสาหกิจชุมชนตำลึงหวาน

        โครงการนี้ชุมชนตั้งหลักในการพัฒนาคือ ต้องการศึกษารวบรวมข้อมูลทรัพยากรผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกกลุ่มและเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน และเพื่อพัฒนาแหล่งวัตถุดิบจากต้นทาง เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าและมูลค่าเพิ่มในการให้บริการด้านอาหาร

ผลผลิตของโครงการ
1. ฐานข้อมูลผลิตทางการเกษตรของสมาชิก
2. แปลงสาธิตการปลูกผักอัจฉริยะ
3. แนวทางการพัฒนาระบบการรับรอง PGS (Participatory Guarantee System)
4. แนวทางการต่อยอดสู่ “ตลาดทำเอง ตลาดสีเขียว พื้นที่สร้างสรรค์ของคนอู่ทอง”

   

โครงการ “ฅนรักษ์สุขภาพอาหารเป็นยา”  โดย วิสาหกิจชุมชนบ้านตำนานดิน

       วิสาหกิจชุมชนบ้านตำนานดินออกแบบโครงการจากความตั้งใจที่จะการยกระดับอาหารท้องถิ่น และการให้บริการเมนูอาหารเพื่อสุขภาพจากภูมิปัญญาด้านสมุนไพร ซึ่งจะช่วยสร้างทั้งคุณค่าและมูลค่าของวัตถุดิบท้องถิ่น อีกทั้งสะท้อนให้เห็นเสน่ห์และบอกเล่าเรื่องราววิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชุมชนและประวัติศาสตร์พื้นที่ผ่านเมนูอาหาร

ผลผลิตของโครงการ
1. การนำฐานข้อมูลผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกมาจัดทำอาหารให้บริการผู้มาเยือน
2. 10 เมนูอาหารห้ามพลาด เมื่อมาอู่ทอง
3. วัตถุดิบในท้องถิ่น ปลอดภัยต่อสุขภาพ
4. ภาชนะ บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

โครงการ “พัฒนายกระดับผลผลิตทางการเกษตรเพื่อต่อยอดสู่ตลาดอย่างยั่งยืน” โดย วิสาหกิจชุมชนวนเกษตรดงเย็น

    วิสาหกิจชุมชนวนเกษตรดงเย็นต้องการแก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกกลุ่มที่มีจำนวนมากแต่ไม่สามารถจำหน่ายได้หมด เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตการณ์โรคโควิด 19 จึงมีความสนใจที่จะศึกษาแนวทางการจัดการผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกกลุ่มและเครือข่าย เพื่อนำมาพัฒนาด้วยภูมิปัญญาด้านการถนอมอาหาร จึงช่วยให้เกิดการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งช่วยสร้างอาชีพเสริมให้กับสมาชิกกลุ่ม ที่สามารถลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวลงได้

ผลผลิตของโครงการ
1. การพัฒนายกระดับผลผลิตทางการเกษตรและวัตถุดิบที่มีเหลือหรือไม่มีตลาดรองรับ มาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า โดยใช้จากฐานข้อมูลผลผลิตของสมาชิก
2. การแปรรูปผักที่มีราคาน้อยให้มีมูลค่าสูง
3. การถนอมอาหารจากผลผลิตตามฤดูกาล ด้วยการใช้ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์
4.  ผลิตภัณฑ์ผงปรุงรสจากธรรมชาติที่ดีต่อสุขภาพ

 

โครงการ “เยือนถิ่นป่าสะแก ตลาดกลางดงเสือ” โดย ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีป่าสะแก

       ชุมชนป่าสะแกมองเห็นโอกาสและศักยภาพของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชุมชน ในช่วงระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) เรื่องราวเหตุการณ์ของการเป็นชุมเสือดำ ซึ่งเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ของชุมชนป่าสะแกที่มีชื่อเสียง ซึ่งสามารถนำมาเป็นต้นทุนทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่จะฟื้นฟูให้ชุมชนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยกระบวนการท่องเที่ยวโดยชุมชน

ผลผลิตของโครงการ
1. ข้อมูลหมอพื้นบ้านป่าสะแก และตำรับยาและวิธีการดูแลสุขภาพ ด้วยภูมิปัญญาคนป่าสะแก
2. เครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ

 

       จากการดำเนินงานทั้ง 4 โครงการ เป็นการนำต้นทุนทรัพยากรที่เป็นจุดแข็งและจุดเด่นของแต่ละชุมชน ทั้งผลผลิตทางการเกษตร วัตถุดิบอาหารในท้องถิ่น ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน และแก้ปัญหาผลผลิตที่ล้นตลาดหรือไม่สามารถจำหน่ายได้ให้มีมูลค่า เป็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ให้แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองด้านเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างมีคุณค่า
          นอกจากนั้นผลผลิตจากการดำเนินกิจกรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรของชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นชุมชนนักคิดเชิงระบบด้วยรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากการออกแบบกระบวนการทำงานที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้ร่วมพัฒนาโครงการและดำเนินงานด้วยตนเอง ซึ่งบุคลากรถือเป็นหัวใจหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาของชุมชน

       ผลลัพธ์สำคัญที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาชุมชนนักคิดเชิงระบบคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนในการพึ่งพาตนเองด้านเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างมีคุณค่า เช่น การลดรายจ่ายในครัวเรือนและลดต้นทุนในการให้บริการนักท่องเที่ยว การเพิ่มรายได้ของครัวเรือนและสร้างมูลค่าเพิ่มของผลลิตในชุมชน การใช้พลังงานทดแทนและการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในชุมชน การเล็งเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่น ก่อให้เกิดการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในชุมชน นำมาเผยแพร่และสร้างคุณค่าผ่านกระบวนการเรียนรู้ของการท่องเที่ยวโดยชุมชน สอดคล้องกับการท่องเที่ยวตามแนวคิด BCG คือ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการโดยคนในชุมชน ส่งเสริมให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าและอัตลักษณ์ของสินค้าทางการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ เกิดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวและการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2564)

 
เอกสารอ้างอิง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2564). แนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจ BCG Economy Model. สืบค้น 18 พฤศจิกายน 2564. จาก http://www.atta.or.th/wp-content/uploads/ 2021/08/Powerpoint-USE-BCG-5-August-2021.pdf

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) (2564). ออนไลน์ https://www.bcg.in.th/

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน). (2565). รายงานฉบับสมบูรณ์ กิจกรรมพัฒนากลไกชุมชนนักคิดเชิงระบบด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) เพื่อเสริมสร้างการจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กิจกรรมพัฒนาปรับปรุงองค์ประกอบของเมืองสร้างสรรค์ โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้