ผู้นำในการพัฒนาชุมชน 4 ประเภท

Last updated: 28 ต.ค. 2562  |  44119 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผู้นำในการพัฒนาชุมชน 4 ประเภท

ผู้นำในการพัฒนาชุมชน 4 ประเภท
เขียนโดย วรพงศ์ ผูกภู่ (บริษัท อาร์แอนด์ดี ครีเอชั่น จำกัด)

ผู้นำ คือผู้ที่มีบทบาทในการนำพาชุมชนสู่การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการบริหารจัดการและกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนให้อยู่ดี มีสุขได้ ชุมชนที่ประสงความสำเร็จในการพัฒนาไม่ว่าจะมิติใด ๆ ก็ตามล้วนแล้วแต่มีผู้นำเป็นปัจจัยความสำเร็จทั้งสิ้น คำว่า “ผู้นำ” ในการพัฒนาชุมชนนั้น ไม่ได้มีเพียงผู้นำที่มีตำแหน่งหน้าที่ทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาพบว่า ผู้นำในชุมชนสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ซึ่งมีคุณลักษณะและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีบทบาทที่สร้างการพัฒนาให้เกิดขึ้นในชุมชนได้ทั้งสิ้น ประกอบด้วย

     1. ผู้นำทางการปกครอง ได้แก่ ผุ้ใหญ่บ้าน กำนัน ประธานชุมชน
     สถานะและเสถียรภาพ : มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ตำแหน่งหน้าที่มีความมั่นคงปานกลาง เปลี่ยนแปลงได้

     2. ผู้นำทางการเมือง ได้แก่ สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
     สถานะและเสถียรภาพ : มีอำนาจหน้าที่และงบประมาณตามกฎหมาย ตำแหน่งหน้าที่ความมั่นคงน้อย เปลี่ยนแปลงได้ (ตามวาระ)

      3. ผู้นำทางศาสนา และผู้นำทางจิตวิญญาณ
      สถานะและเสถียรภาพ : มีศรัทธามีพื้นที่ทางสังคม ตำแหน่งหน้าที่มีความมั่นคงปานกลาง มีโอกาสเปลี่ยนแปลง

      4. ผู้นำทางธรรมชาติ (หมายรวมถึงครู หมออนามัย ที่มีบาทบาทในการนำพาการพัฒนาชุมชน)
      สถานะและเสถียรภาพ : มีศรัทธา มีเครือข่ายภายนอกที่ทำเรื่องเดียวกัน หน้าที่ความมั่นคงสูงเพราะทำด้วยใจ ยึดมั่นอุดมการณ์  เปลี่ยนแปลงยาก


      ผู้นำในการพัฒนา ยังส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะมากน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมและเงื่อนไขอื่น ๆ แต่หากเราเฉลี่ยให้ผู้นำทั้ง 4 ประเภท มีผลต่อการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาที่เท่า ๆ กัน (กลุ่มละ 25%) จะพบว่า การมีผู้นำประเภทใดประเภทหนึ่ง ก็มีความเป็นไปได้ในการสร้างการพัฒนาให้เกิดขึ้นในชุมชน แต่หากมีผู้นำในการพัฒนามากกว่าหนึ่งประเภทมาร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาในชุมชน ย่อมแสดงให้เห็นว่า แนวโน้มความสำเร็จและการสร้างการมีส่วนร่วม (มวลชนในการพัฒนา) ย่อมเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ และที่น่าสนใจคือ ผู้นำทางธรรมชาตินั้นเป็นผู้นำที่มีความมั่นคงสูง เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างได้มาก และสามารถอยู่ในคุณลักษณะของผู้นำประเภทอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ที่มีคุณลักษณะเป็นผู้นำทางธรรมชาติ เมื่อหมดวาระการดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านแล้ว ก็ยังคงสถานะความเป็นผู้นำทางธรรมชาติ ที่มีบทบาทในการพัฒนาชุมชนต่อไปด้วยการยอมรับนับถือของประชาชน

       อย่างไรก็ตาม การพัฒนาไม่ใช่หน้าที่ของผู้นำคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของประชาชนทุก ๆ คน ที่สามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเองได้ จนกลายเป็นผู้นำทางธรรมชาติซึ่งเป็นบุคคลที่ชาวบ้านให้การยอมรับนับถือ ผ่านการลงมือด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้