Last updated: 28 ต.ค. 2562 | 45457 จำนวนผู้เข้าชม |
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
เรียบเรียงโดย วรพงศ์ ผูกภู่ (บริษัทอาร์แอนด์ดี ครีเอชั่น จำกัด)
เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคโลกภิวัฒน์ การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ได้เกิดขึ้นกับมนุษยชาติ การแคลื่อนย้ายทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียงพริบตา ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่จะต้องอาศัยระยะเวลานับศตวรรษ สาเหตุที่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมอย่างรวดเร็วนั้นก็คือ เทคโนโลยีการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ผู้ส่งสารหรือผู้ที่มีอำนาจทางการสื่อสารย่อมเป็นผู้แพร่กระจายวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และผู้รับสารหรือผู้ที่ไร้อำนาจทางการสื่อสารก็อยู่ในสถานะของผู้รับเอาวัฒนธรรมใหม่นั้นมาผนวกกับวัฒนธรรมเดิม จนถูกครอบงำไปในที่สุด ปรากฏการณ์เหล่านี้ ส่งผลให้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของมนุษย์ในหลางพื้นที่เริ่มลดบทบาทความสำคัญลงและถูกแทนที่ด้วยวัฒนธรรมและความรู้สมัยใหม่ แน่นอนว่าเทคโนโลยีการสื่อสารไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่สร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ยังเกี่ยวข้องกับ การพัฒนาเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอื่น ๆ ด้วย เพียงแต่เทคโนโลยีการสื่อสารนั้นเป็นสิ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแบบพลิกฝ่ามือ
จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้องค์ความรู้ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมดังเดิมของผู้คนหลายกลุ่มชาติพันธุ์บนโลกสูญหาย เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2003 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่
จับต้องไม่ได้(2003) โดยมีสาระสำคัญคือ
1. อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เป็นเครื่องมือทางกฎหมายระหว่างประเทศ ในการปกป้องคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ รวมทั้งเป็นการเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชุมชน กลุ่มชน และปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง
2. เป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการปกป้อง คุ้มครองมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับโลก
และมีวัตถุประสงค์ของอนุสัญญา ว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (2003) 4 ประการ ดังนี้
1. พื่อปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
2. เพื่อประกันว่าจะเคารพมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชุมชน กลุ่มชน และปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง
3. เพื่อเพิ่มความตระหนักในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานชาติ ถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และให้เกิดความชื่นชมร่วมกัน
4. เพื่อให้เกิดความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศ
ประเทศไทย ได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกลำดับที่ 171 โดยสมัครเข้าเป็นภาคีเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559 และมีผลในการเข้าเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2559 โดยมีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาฯ และได้มีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.2559 ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการทำงานของประเทศไทย ซึ่งได้มีการกำหนดคำนิยามความหมายของ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไว้ว่า”
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” หมายถึง การปฏิบัติ การแสดงออก ความรู้ ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งชุมชน กลุ่มชน หรือในบางกรณีปัจเจกบุคคลยอมรับว่า เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของตน มรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรมซึ่งถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งนี้ เป็นสิ่งซึ่งชุมชนและกลุ่มชนสร้างขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของตน เป็นปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีต่อธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของตน และทำให้คนเหล่านั้นเกิดความภูมิใจในตัวตนและความรู้สึกสืบเนื่องก่อให้เกิดความเคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์
ประเทศไทยได้มีการกำหนดหมวดหมู่ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ออกเป็น 7 สาขา ซึ่งได้มีการดำเนินการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นประจำทุกปี หมวดหมู่ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ทั้ง 7 สาขาและตัวอย่างรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติแล้ว มีดังนี้
1. สาขาศิลปะการแสดง
การแสดงดนตรี รำ-เต้น และละครที่แสดงเป็นเรื่องราว ทั้งที่เป็นการแสดงตามขนบแบบแผน มีการประยุกต์เปลี่ยนแปลง และ/หรือ การแสดงร่วมสมัยการแสดงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการแสดงสดต่อหน้าผู้ชม และมีจุดมุ่งหมายเพื่อความงาม ความบันเทิงและ/หรือเป็นงานแสดงที่ก่อให้เกิดการคิด วิพากษ์ นำสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคม
ตัวอย่างที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
ซอล้านนา หมอลำกลอน เพลงโคราช โขน หนังใหญ่ ละครชาตรี ปี่พาทย์ หุ่นกระบอก ก้านกกิงกะหร่า
ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา
2. งานช่างฝีมือดั้งเดิม
ภูมิปัญญา ทักษะฝีมือช่าง การเลือกใช้วัสดุ และกลวิธีการสร้างสรรค์ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ สะท้อนพัฒนาการทางสังคม และวัฒนธรรมของกลุ่มชน
ตัวอย่างที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
ซิ่นตีนจก ผ้ามัดหมี่ ผ้าทอไทลื้อ ผ้าทอกะเหรี่ยง ก่องข้าวดอก เครื่องจักสานย่านลิเภา มีดอรัญญิก ขันลงหินบ้าบุ เครื่องมุกไทย โคมล้านนา สัตตภัณฑ์ล้านนา ช่างแทงหยวก
3. วรรณกรรมพื้นบ้าน
วรรณกรรมที่ถ่ายทอดอยู่ในวิถีชีวิตชาวบ้าน โดยครอบคลุมวรรณกรรมที่ถ่ายทอดโดยวิธีการบอกเล่า และที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร
ตัวอย่างที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
นิทานตาม่องลาย นิทานพระรถเมรี ตำนานพระร่วง ตำนานพระธาตุดอยตุง ตำนานปู่แสะย่าแสะ บททำขวัญช้าง ตำราพรหมชาติ ปักขทึนล้านนา
4. กีฬาภูมิปัญญาไทย
การเล่น กีฬาและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ที่มีการปฏิบัติกันอยู่ในประเทศไทยและมีเอกลักษณ์สะท้อนวิถีไทย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว
ตัวอย่างที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
มวยไทย ว่าวไทย ตะกร้อ หมากเก็บ หมากรุกไทย มวยตับจาก วิ่งควาย แข่งเรือ มวยโบราณสกลนคร ตาเขย่งหรือตังเต
5. แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล
การประพฤติปฏิบัติในแนวทางเดียวกันของคนในชุมชนที่สืบทอดต่อกันมาบนหนทางของมงคลวิถี นำไปสู่สังคมแห่งสันติสุขแสดงให้เห็นอัตลักษณ์ของชุมชนและชาติพันธุ์นั้น ๆ
ตัวอย่างที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
สงกรานต์ ลอยกระทง เทศน์มหาชาติ ทำขวัญข้าว การผูกเสี่ยว ประเพณีสลากย้อมเมืองลำพูน ประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีการละเล่นผีตาโขน พิธีทำขวัญนาค
6. ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
องค์ความรู้ วิธีการ ทักษะ ความเชื่อ แนวปฏิบัติและการแสดงออกที่พัฒนาขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ
ตัวอย่างที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
น้ำปลาไทย ฤๅษีดัดตน ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน อาหารบาบ๋า มังคุดคัด เมี่ยงคำ ข้าวหอมมะลิ ปลากัดไทย แมวไทย การย่างไฟ ลูกประคบ ภูมิปัญญาการทำเหมืองฝาย
7. ภาษา
เครื่องมือที่ใช้สื่อสารในวิถีการดำรงชีวิตของชนกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งสะท้อน โลกทัศน์ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชน ทั้งเสียงพูด ตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ที่ใช้แทนเสียงพูด
ตัวอย่างที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
อักษรธรรมอีสาน อักษรธรรมล้านนา ภาษาเลอเวือะ ภาษาญ้อ ภาษาพวน ภาษาบีซู ภาษามอแกน
หากมองในมิติคุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นรากเหง้าและสิ่งสะท้อนตัวตนของผู้คนแต่ละชาตพันธุ์ เป็นบ่อเกิดความความเจริญรุ่งเรืองในปัจจุบัน รวมทั้งการอธิบายความสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันซึ่งเป็นพัฒนาการที่ยาวนานของสังคมมนุษย์ และหากจะมองในมิติเชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่สามารถนำมาต่อยอดให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ดังนั้นคงจะสรุปได้ว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม คือ ทรัพย์สมบัติจากบรรพชน ที่รอการนำกลับมาใช้ ซึ่งยิ่งนานวันยิ่งมีคุณค่ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น และยิ่งใช้ยิ่งเกิดประโยชน์ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของความเหมาะสมกับบริบทของสังคมใหม่และการนำมาใช้อย่างยั่งยืน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม http://ich.culture.go.th/